Skip to main content

สำนักงานแรงงาน จังหวัดเพชรบูรณ์

ภารกิจ และ อำนาจหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงาน

หน้าที่ของสำนักงานแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์

ดำเนินงานตามภารกิจของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับการพัฒนายุทธศาสตร์แปลงนโยบายของกระทรวงแรงงานเป็นแผนปฏิบัติ บูรณาการ การปฏิบัติราชการ และการบริหารราชการทั่วไปของกระทรวงแรงงาน โดยมีหน้าที่ให้บริการ ดังนี้

๑. การจัดบริการด้านแรงงานแก่ประชาชนในพื้นที่

มีการดำเนินการจัดกิจกรรมด้านแรงงานให้บริการในพื้นที่ เพื่อประชาชนในตำบล หมู่บ้าน ชุมชน ได้รับบริการด้านแรงงาน เช่น การพัฒนาทักษะฝีมือ การรับสมัครงาน หรือการสร้างอาชีพเสริมเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับบริการงานด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและการประกันสังคมอย่างทั่วถึง

๒. การจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ

ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยจากวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพแก่ผู้ประสบภัยให้มีงานทำและมายได้ในการดำรงชีวิตในช่วงว่างงาน พัฒนาทักษะฝีมือและศักยภาพในสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อปรับปรุง ซ่อมแซมบ้านเรือน อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ รวมถึงสาธารณสมบัติต่าง ๆ ของชุมชนที่ชำรุดเสียหายให้ใช้งานได้และเป็นการสร้างโอกาสและทางเลือกให้ผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยจากวิกฤตเศรษฐกิจได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพเสริม

๓. การเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ข้อมูลแรงงาน

ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ข้อมูลของสำนักงานแรงงานจังหวัดโดยการจัดทำรายงานสถานการณ์แรงงานจังหวัด เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มสถานการณ์ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และแรงงาน ซึ่งมีข้อมูลด้านแรงงานครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นปัจจุบัน สามารถให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปได้อย่างรวดเร็วสำหรับใช้เป็นแนวทางในการบริหารงานแรงงาน

๔. การเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด

ในการพิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาลได้ศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ เช่น ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด จะอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและรับความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุขเพื่อเสนอแนะว่าควรปรับอัตราค่าจ้างหรือไม่ต่อคณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณา

๕. แรงงานนอกระบบ

มีการดำเนินการให้แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองดูแลในเรื่องสิทธิ สวัสดิการ และผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานที่เหมาะสม เท่าเทียมกับแรงงานในระบบด้วยการพิจารณาขยายการประกันสังคมออกไปยังกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจว่ามีแรงงานนอกระบบสนใจมากน้อยเพียงไร ถ้าท่านสนใจติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์

๖. ชมรม TO BE NUMBER ONE ในสถานประกอบการ

ส่งเสริมสถานประกอบการให้จัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE และรณรงค์ปลูกจิตสำนึกและสร้างกระแสที่เอื้อต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ การสร้างและพัฒนาเครือข่าย

๗. การขยายเครือข่ายอาสาสมัครแรงงาน

ได้ดำเนินการขยายเครือข่ายอาสาสมัครแรงงานโดยการขยายให้มีแกนนำอาสาสมัครแรงงานระดับตำบลทุกตำบลเพื่อเป็นตัวแทนกระทรวงแรงงานในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน และนำบริการของกระทรวงแรงงานเข้าสู่ชุมชนเพื่อให้ประชาชนมีงานทำและมีรายได้ และได้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามกฎหมายแรงงาน

๘. ศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงาน

ได้ดำเนินการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อให้บริการงานด้านแรงงาน งานประกันสังคม งานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน งานจัดหางาน เช่น ตำแหน่งงานว่าง สมัครงาน งานฝึกอาชีพ บริการข้อมูลข่าวสารด้านแรงงาน รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการให้บริการที่หลากหลาย เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยศูนย์บริการร่วมกระทรวงของจังหวัดเพชรบูรณ์ได้เปิดให้บริการที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอวิเชียรบุรี

๙. บริการข้อมูล / ข่าวสาร

  • สถานการณ์ด้านแรงงานรายไตรมาส
  • ข้อมูลด้านแรงงานสำหรับผู้บริหารรายเดือน
  • ข้อมูลโครงสร้างกำลังแรงงานรายไตรมาส
  • ข้อมูลเครือข่ายอาสาสมัครแรงงาน
  • สิทธิประโยชน์ของแรงงานไทยในต่างประเทศฯลฯ

๑๐. บริการรับเรื่องราว / ร้องทุกข์ / แก้ไขปัญหาด้านแรงงาน

  • ปัญหาด้านแรงงาน
  • ปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการ
  • ปัญหาความต้องการมีงานทำ และอาชีพเสริม
  • ปัญหาแผนด้านแรงงานในระดับตำบล หมู่บ้าน ไม่ได้รับการตอบสนอง
  • ปัญหาผู้ประสบภัยธรรมชาติที่มีความเดือดร้อนด้านอาชีพ และขาดรายได้ชั่วคราวฯลฯ
638
TOP