Skip to main content

สำนักงานแรงงาน จังหวัดเพชรบูรณ์

สถานการณ์แรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์ ไตรมาส 3 ปี 2555

pll_content_description

สามารถดาวน์โหลดสถานการณ์แรงงานไตรมาส 3 ปี 2555  ได้ที่ลิงค์ดาวน์โหลดนี้

http://115.31.136.62/sites/phetchabun.mol.go.th/files/hnangsuuesthaankaarnaerngngaancchanghwadephchrbuurn_aitrmaas_3_pii_2555.pdf

 

 

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

 

 สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและแรงงาน
มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

สภาพทางเศรษฐกิจ

 

          ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดเพชรบูรณ์ ปี 2553 ราคาคงที่มีมูลค่า 25,678 ล้านบาท อุตสาหกรรมที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงสุด  3  อันดับแรก  ได้แก่  1) เกษตรกรรม  (ร้อยละ  32.88 ของ GPP)  2)  การค้าส่งและค้าปลีก  ซ่อมแซมยานยนต์และของใช้ในครัวเรือน  (ร้อยละ  17.98 ของ GPP)  3)  อุตสาหกรรมการผลิต  (ร้อยละ  8.60 ของ  GPP )  การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคของจังหวัดเพชรบูรณ์ เดือนกันยายน 2555  เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2555 ลดลงร้อยละ 0.9 เดือนกันยายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 2.4 เฉลี่ยระยะ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2554 สูงขึ้นร้อยละ 2.2 การจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่  มีจำนวน  43  แห่ง ทุนจดทะเบียน 48.2 ล้านบาท  อุตสาหกรรมที่มีทุนจดทะเบียนสูงสุด คือ 1) บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ ทุนจดทะเบียน 181.0 ล้านบาท 2) การขายส่ง  การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์  ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน  ทุนจดทะเบียน 31.0 ล้านบาท มีโรงงานได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในไตรมาสนี้  จำนวน  7  โรง  สามารถจ้างงานได้ 34 คน เงินทุน 37,660,000 บาท มีโรงงานที่เลิกกิจการ จำนวน 14 โรง

สถานการณ์ด้านแรงงาน

 

          จังหวัดเพชรบูรณ์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 (เมษายน – มิถุนายน) มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น จำนวน 1,044,469 คน เป็นผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 851,381 คน ร้อยละ 81.51 ซึ่งอยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 608,230 คน ร้อยละ 58.23 ผู้มีงานทำ จำนวน 604,443 คน ร้อยละ 57.87 ผู้ว่างงาน จำนวน 1,552 ร้อยละ 0.15 ผู้รอฤดูกาล จำนวน 2,235 คน ร้อยละ 0.21 และผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 243,151 คน ร้อยละ 23.28 ส่วนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 193,088 คน ร้อยละ 18.49

          การมีงานทำ ผู้มีงานทำในจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 604,443 คน คิดเป็นร้อยละ 99.38 ของกำลังแรงงานรวม เป็นผู้ทำงานในภาคเกษตร จำนวน 331,177 ร้อยละ 54.79 ของผู้มีงานทำ เป็นผู้ทำงานนอกภาคเกษตร จำนวน 273,266 คน ร้อยละ 45.21 โดยทำงานในสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนมากที่สุด จำนวน 50,646 คน ร้อยละ 35.75 ของผู้ทำงานนอกภาคเกษตร รองลงมาคือการก่อสร้าง จำนวน 41,925 คน ร้อยละ 15.34 และผู้มีงานทำส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษา จำนวน 206,463 คน ร้อยละ 34.16 ของผู้มีงานทำ ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ที่มีร้อยละ 38.30 ด้านสถานภาพการทำงานของผู้มีงานทำ พบว่าส่วนใหญ่ทำงานส่วนตัว จำนวน 197,815 คน

          การว่างงาน จังหวัดเพชรบูรณ์ มีผู้ว่างงาน 1,552 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.26 โดยมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2554 ซึ่งมีอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.19 (อัตราการว่างงานคำนวณจากจำนวนผู้ว่างงานต่อกำลังแรงงานปัจจุบัน)

          ความต้องการด้านแรงงาน ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2555 (กรกฎาคม – กันยายน) นายจ้าง/สถานประกอบการ แจ้งความต้องการ จำนวน 1,490 อัตรา ผู้ลงทะเบียนสมัครงาน จำนวน 579 คน และการบรรจุงาน จำนวน 649 คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสที่ผ่านมาพบว่าความต้องการแรงงานลดลง 82 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 5.50 ผู้สมัครงานลดลง 938 คน คิดเป็นร้อยละ 172.37 และการบรรจุงานลดลง 575 คน คิดเป็นร้อยละ 88.60 อุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่การผลิต 468 อัตรา ร้อยละ 96.10 เมื่อพิจารณาระดับการศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการแรงงานผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา 505 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 33.89 รองลงมา คือ ระดับ ปวช. 286 อัตรา ร้อยละ 19.19 และปวส. 285 อัตรา ร้อยละ 19.13

          ผู้สมัครงาน ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษามากที่สุด 249 คน ร้อยละ 43.00 รองลงมาเป็นระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า 167 คน ร้อยละ 28.84 ผู้สมัครงานส่วนใหญ่สมัครงานในประเภทอาชีพงานพื้นฐานมากที่สุด 322 อัตรา ร้อยละ 55.61 และเป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-39 ปี  225 คน ร้อยละ 44.04 รองลงมาเป็นพนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด 106 คน ร้อยละ 18.31

          การบรรจุงาน อุตสาหกรรมที่มีการบรรจุงานมากที่สุด คือการผลิต 96 คน ร้อยละ 59.63 รองลงมา  คือ การขายส่ง ขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคล และของใช้ในครัวเรือน 47 คน ร้อยละ 29.19 ส่วนการบรรจุงานประเภทอาชีพ อาชีพงานพื้นฐาน 534 คน ร้อยละ 82.28 รองลงมา คือพนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด 38 คน ร้อยละ 5.86 ระดับการศึกษาที่บรรจุงานมากที่สุด คือมัธยมศึกษา 304 คน ร้อยละ 46.84 รองลงมา คือ ระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า 214 คน ร้อยละ 32.97 โดยช่วงอายุที่มีการบรรจุงานมากที่สุด 30-39 ปี 252 คน ร้อยละ 38.83 รองลงมาเป็นช่วงอายุ 18-24 ปี 143 คน 22.03

          แรงงานต่างด้าว ข้อมูล ณ เดือน กันยายน 2555 แรงงานต่างด้าวของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีจำนวนทั้งสิ้น  5,182 คน แบ่งเป็น 1) แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย จำนวน 4,016 คน ร้อยละ 77.50 โดยเป็นแรงงานต่างด้าว ตามมาตรา 9 จำนวน 3,989 คน ร้อยละ 99.33 เป็นแรงงานต่างด้าว นำเข้าตามมาตรา 11 จำนวน 3 คน ร้อยละ 0.07 และชนกลุ่มน้อย จำนวน 24 คน ร้อยละ 0.60 2) แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง มาตรา 13 จำนวน 1,166 คน ร้อยละ 22.50

          เมื่อพิจารณาแรงงานต่างด้าวจังหวัดเพชรบูรณ์ตามสัญชาติ 3 สัญชาติ ได้แก่สัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา จำนวน 5,008 คน โดยแยกตามมาตรา 9 ต่างด้าวพิสูจน์สัญชาติ จำนวน  3,482 คน เป็นสัญชาติพม่า จำนวน 3,726  คน ร้อยละ 96.98 สัญชาติลาว จำนวน 97 คน ร้อยละ 2.52 สัญชาติกัมพูชา จำนวน 19 คน ร้อยละ 0.51และตามมาตรา 13 ต่างด้าวหลบหนี้เข้าเมือง จำนวน 1,166 คน เป็นสัญชาติพม่า จำนวน 671  คน ร้อยละ 57.55 สัญชาติลาว จำนวน 335 คน ร้อยละ 28.73 สัญชาติกัมพูชา จำนวน 160 คน ร้อยละ 13.72

 

          แรงงานไทยในต่างประเทศ ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีแรงงานไทยที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 27 คน และที่ได้รับขออนุมัติเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยวิธีแจ้งการเดินทาง (Re-Entry) จำนวน 87 คน ร้อยละ 83.65 การแจ้งเดินทางด้วยตนเอง 17 คน ร้อยละ 16.35 โดยภูมิภาคที่แรงงานไทยไปทำงานส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคอื่นๆ  จำนวน 15 คน ร้อยละ 55.56, เอเชีย จำนวน 29.63, ตะวันออกกลาง จำนวน 3 คน ร้อยละ 11.11 คน และแอฟริกา จำนวน 1 คน ร้อยละ 3.70 ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ร้อยละ 48.14

การพัฒนาศักยภาพแรงงาน สำหรับการฝึกฝีมือแรงงาน ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2555 มีการฝึกดังนี้ การยกระดับฝีมือแรงงาน จำนวน  1,679 คน ผ่านการฝึก 1,516 คน (ร้อยละ 90.29) โดยกลุ่มอาชีพที่ฝึกยกระดับฝีมือสูงสุด คือ ธุรกิจและบริการ มีจำนวน 1,556  คน คิดเป็นร้อยละ 92.67 ของผู้รับการฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน สำหรับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานนั้นมี จำนวน  2 คน ผ่านการทดสอบ 2 คน คิดเป็นร้อยละ 100.00 ของผู้เข้าทดสอบ โดยกลุ่มอาชีพที่ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน คือ ช่างเครื่องกล มีจำนวน 2 คน ส่วนการฝึกเสริมทักษะฝีมือแรงงานมีผู้เข้ารับการฝึก ทั้งสิ้น 685 คน มีผู้ผ่านการฝึก จำนวน 684 คน คิดเป็นร้อยละ 99.85 ของผู้เข้ารับการฝึกเสริมทักษะฝีมือ โดยกลุ่มอาชีพที่เข้ารับการฝึกสูงสุดคือ ธุรกิจและบริการ มีจำนวน 390 คน (ร้อยละ 56.93) มีผู้ผ่านการฝึก จำนวน 389 คน คิดเป็นร้อยละ 99.74 ของผู้เข้าทดสอบ

          การคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการ ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2555 จากการตรวจสถานประกอบการ ทั้งสิ้น 65 แห่งลูกจ้างที่ผ่านการตรวจ 3,094 คน ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ร้อยละ 100.00 การตรวจความปลอดภัยในการทำงาน ได้ดำเนินการตรวจทั้งสิ้น 56 แห่ง ลูกจ้างที่ผ่านการตรวจ จำนวน 3,581 คน สถานประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย ร้อยละ 100.00

การประกันสังคม กองทุนประกันสังคม ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2555 จำนวนการใช้บริการกองทุนประกันสังคม มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน 4,692 ราย พิจารณาตามประเภท ของประโยชน์ทดแทน ซึ่งมี 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และ ว่างงาน จ่ายเงินกองทุน จำนวนทั้งสิ้น 39,793,098.24 สำหรับประเภทประโยชน์ทดแทนที่จ่ายเงินทดแทนสูงสุดในไตรมาสนี้ได้แก่ กรณีคลอดบุตร จ่ายเงินทดแทน จำนวน 12,613,702.50 บาท มีผู้ประกันตนใช้บริการ 599 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.77 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด กองทุนเงินทดแทน มีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียน จำนวน 1,738 แห่ง ลูกจ้างจำนวน 22,295 ราย สถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทนมีสถานพยาบาลของรัฐบาล จำนวน 11 แห่ง คือโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลอำเภอทุกแห่ง ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2555 มีจำนวนผู้ประสบอันตรายมาใช้บริการกองทุน ซึ่งได้รับการวินิจฉัยแล้ว จำนวน 93 ราย จ่ายเงินทดแทนจำนวนทั้งสิ้น 730,816.50 บาท

TOP